วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

การศึกษากฎหมาย


ประวัติศาสตร์กฎหมาย
     การจะศึกษากฎหมายให้เข้าใจและได้ผลนั้น จำเป็นจะต้องรู้ถึงที่มาของกฎหมายด้วย
มีประวัติคร่าวๆ ดังนี้



กฎหมาย 12 โต๊ะ
     ในยุคโรมัน หลังจากนครรัฐของกรีกเสื่อมลง กรุงโรมซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มนักรบหลายกลุ่มก็ได้แผ่ขยายอาณาจักรออก ไปกว้างจนกลายเป็นจักรวรรดิ์โรมันที่ยิ่งใหญ่ อารายธรรมของโรมันรุ่งเรืองมากโดยเฉพาะในด้านความคิดทางกฎหมายและทางการ ปกครองในยุคต้นๆ ก่อนคริสตกาล อาณาจักรของโรมันประกอบด้วยชนสองชั้น คือ ชนชาวโรมันที่เรียกว่า Patrician อันเป็นชนชั้นปกครองและมีสิทธิ มีเสียงในการปกครอง กับพวกสามัญชนที่เรียกว่า Plebeian อันเป็นชนชั้นที่ถูกปกครองและไม่มีสิทธิมีเสียงในการปกครอง สำหรับกฎหมายที่ใช้ในอาณาจักรโรมันนั้น แบ่งออกเป็น Jus Civile อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับพลเมืองชาวโรมัน และ Jus Gentium อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับสามัญชนและคนต่างด้าวที่มิได้มีฐานะเป็น พลเมืองชาวโรมัน กฎหมายทั้งสองประเภทนี้ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรมีแต่ชนชั้น ปกครองเท่านั้นที่รู้ ต่อมาในปี 452 ก่อนคริสตกาล จึงได้มีการนำเอากฎหมายที่ใช้กันอยู่นี้มาบันทึกลงบนแผ่นทองแดงรวม 12 แผ่น แล้วเอาไปตั้งไว้กลางเมืองเพื่อให้ประชาชนรู้โดยเรียกกฎหมายนี้ว่า กฎหมายสิบสองโต๊ะ (Law of Twelve Tables) ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการรวบรวมกฎหมายขึ้นและเป็นครั้งแรกที่มีการ นำเอาจารีตประเพณีมาบันทึกเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร และเป็นการเริ่มต้นยอมรับว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่จะต้องเปิดเผยให้ทุกคนได้รับ รู้ กฎหมายสิบสองโต๊ะแยกมีรายละเอียด ดังนี้
โต๊ะที่ 1-3 การพิจารณาความแพ่งและการบังคับคดี
โต๊ะที่ 4 อำนาจของบิดาในฐานะหัวหน้าครอบครัว
โต๊ะที่ 5-7 การใช้อำนาจปกครอง การรับมรดก ทรัพย์สิน
โต๊ะที่ 8 การละเมิดและการกระทำความผิดทางอาญา
โต๊ะที่ 9 กฎหมายมหาชน
โต๊ะที่ 10 กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ (ศาสนา)
โต๊ะที่ 11-12 กฎหมายอื่นๆ รวมทั้งกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองกับชนชั้นที่ถูกปกครอง
เมื่อพิจารณาจากกฎหมายสิบสองโต๊ะแล้ว จะเห็นได้ว่า ในยุคโรมันนี้กฎหมายมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน คือ
ก.กฎหมายเอกชน (Jus Privatum) ได้แก่ กฎหมายทั้งหลายที่เกี่ยวพันกับราษฎรทุกคน
ในชีวิตประจำวัน
ข.กฎหมายมหาชน (Jus Publicum) ได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องเฉพาะบุคคลบางประเภท เช่น สมาชิกสภา ศาล และกฎหมายเกี่ยวกับกิจการทางการเมืองการปกครอง
ค.กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ (Jus Sacrum) ได้แก่ กฎหมายที่พระใช้ในหมู่พระ ซึ่งถือว่าเป็นสังคมต่างหากอีกสังคมหนึ่ง
หลังจากที่ชาวโรมันใช้กฎหมายสิบสองโต๊ะมาร่วมพันปี ก็มีปัญหาเกิดขึ้นมากมายเพราะกฎหมายนี้มีเนื้อหาไม่ครอบคลุมมาก เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น ลูกขุนก็จะนำไปปรึกษาบรรดานักปราชญ์ ซึ่งก็เกิดการให้ความเห็นที่ขัดแย้ง ในปี ค.ศ.426 จักรพรรดิโรมันจึงได้ออกกฎหมายชื่อ The Law of Citations ซึ่งกำหนดให้ถือหลักว่าความเห็นของนักปราชญ์ซึ่งได้รับการยกย่องในขณะนั้น 5 ท่าน เป็นความเห็นที่ถูกต้อง แต่ถ้าในปัญหาใดปราชญ์ทั้ง 5 เห็นไม่ตรงกัน ก็ให้ถือเอาความเห็นของฝ่ายข้างมากเป็นเกณฑ์ ในเวลาต่อมาหลักกฎหมายโรมันที่เกิดจากความเห็นของนักปราชญ์จึงมีมากขึ้น เรื่อยๆ ทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้เรียนและผู้ใช้เป็นอันมาก ดังนั้น ในสมัยของพระเจ้าจัสติเนียน (Justinian) พระองค์จึงทรงตั้งคณะกรรมการขึ้นสะสางและรวบรวมหลักกฎหมายต่างๆ ที่ใช้อยู่เพื่อจัดทำเป็นประมวลกฎหมายเรียกว่า Corpus Juris Civilis ซึ่งถือได้ว่าเป็นประมวลกฎหมายเอกชน ประมวลกฎหมายนี้ทำให้กฎหมายเอกชนชัดเจนขึ้นและแยกตัวเองออกจากกฎหมายมหาชน ได้เกือบเด็ดขาด



ประมวลกฎหมายจัสติเนียน (The Juistinian Code)
ความเป็นมาของประมวลกฎหมายจัสติเนีน ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.528 ภายหลังที่ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรโรมันเพียงหนึ่งปี จัสติเนียนได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง จำนวน 10 นาย มี Tribonian ซึ่งเป็นักกฎหมายที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นเป็นประธาน ให้มีหน้าที่รวบรวมและจัดทำกฎหมายขึ้นใหม่ จนในที่สุดสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.529
        ในปี ค.ศ.530 จัสติเนียนได้มอบให้ไทโบเนียน (Tribonian) จัดทำกฎหมายขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ให้มีลักษณะกว้างขวางสามารถใช้บังคับได้ทั่ว ๆ ไป ในครั้งนี้ Tribonian ได้เลือกบุคคลอื่น ๆ มาร่วมงานด้วย 16 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงทั้งสิ้น และสี่คนในจำนวนนี้เป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมาย
คณะกรรมการชุดนี้ใช้เวลา 3 ปี ได้จัดทำกฎหมายขึ้น 2,000 บรรพ (Books) ขนาด 3,000,000 บรรทัด แต่ในที่สุดถูกตัดทอนลงเหลือ 150,000 บรรทัด และได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.533
การจัดทำและรวบรวมกฎหมายขึ้นในรูป Code ของจัสติเนียน ทำให้กฎหมายโรมันมีความแน่นอนและมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้สามารถยึดถือเป็นแบบอย่าง รวมทั้งนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง และทำให้กฎหมายที่ใช้อยู่ดั้งเดิมในยุคเก่าหมดสิ้นความหมายลงด้วย
ดังนั้น กฎหมายที่ถือว่ามีความสำคัญและเป็นแบบอย่างแก่กฎหมายของยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 12 และ 13 ได้แก่ ประมวลกฎหมายที่จัดทำโดย Emperor Justinian เมื่อ ค.ศ.528 – 529 และมีชื่อเรียกในภายหลังว่า “Corpus Juris Cilvilis” และชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายแม้กระทั่งในปัจจุบัน
ประมวลกฎหมายจัสติเนียน (The Justinian Code) หลังจากได้มีการจัดทำกฎหมายสิบสองโต๊ะแล้ว ในยุคต่อมาได้มีการจัดทำกฎหมายขึ้นอีกหลายฉบับ ก่อนที่จะได้มีการจัดทำประมวลกฎหมายจัสติเนียน เช่น
Edictum Perpetuum โดย Salvius Julianus ในปี ค.ศ.130
Codex Gregorianus โดย Gregorianus ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่สาม มีทั้งหมด 16 บรรพ
เนื่องจากกฎหมาย Civil Law ซึ่งประกอบด้วย กฎหมายสิบสองโต๊ะได้มีการพัฒนาโดยพวกพรีทอร์และนักกำหมายหลายสำนัก ต่างคนต่างความเห็น และมีจักรพรรดิหลายพระองค์ ทรงกำหนดให้อ้างอิงความเห็นของนักกฎหมาย 5 นาย จึงจะเป็นความเห็นที่เชื่อถือได้ ถ้าความเห็นของนักกฎหมายเป็นไปในทางเดียวกันทั้ง 5 นาย ศาลหรือผู้พิพากษาจะต้องตัดสินความตามนั้น แต่ถ้าความเห็นของนักกฎหมายไม่ตรงกัน ผู้พิพากษาจะพิจารณาตามความเห็นของใครก็ได้ ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการแก้ไขปัญหาชั่วคราว แต่ถ้าเห็นพ้องต้องกันจะไม่มีปัญหาแต่ถ้าใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษาการตัดสินย่อมเป็นไปตามความคิดเห็นของใครก็ได้ จึงเป็นเรื่องไม่แน่นอน
สรุป วัตถุประสงค์ในการจัดทำประมวลกฎหมายจัสติเนียน มี 2 ประการคือ
1.     เพื่อเป็นการบัญญัติกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ทั่วอาณาเขตของอาณาจักรโรมัน อันเป็นที่เชื่อถือและอ้างอิงได้โดยสะดวก
2.     เพื่อเป็นบทกฎหมายเพียงแหล่งเดียวทีใช้ทั้งหลายในอดีตไม่มีกฎหมายอื่นใดอีก ที่จะมาขัดหรือแย้งกับบทกฎหมายในประมวลกฎหมายนี้
ด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทำให้จักรพรรดิจัสติเนียนเชื่อว่าน่าจะทำให้กฎหมายมีเพียงฉบับเดียวใช้บังคับได้ทั่วราชอาณาจักร จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมารวบรวม และสามารถประกาศใช้ประมวลกฎหมายนี้สำเร็จ ชื่อเป็นภาษาลาตินว่า Corpus Juris เรียกอีกชื่อเป็นภาษาไทยว่า โครงสร้างของกฎหมาย Civil Law
โครงสร้างของกฎหมาย Civil Law  หรือประมวลกฎหมาย Civil Law มีองค์ประกอบด้วยบทบัญญัติ 3 ภาคดังนี้คือ
(1)  คำอธิบายกฎหมาย (Institutes)
(2)  วรรณกรรมกฎหมาย (Digests)
(3)  ประมวลพระราชบัญญัติ (The Code)
คำอธิบายกฎหมาย (Institutes) เป็นบทบัญญัติเพื่อที่จะแนะนำให้ผู้ศึกษากฎหมายเข้าใจถึงกฎหมาย และเนื้อหาสาระของกฎหมาย ซีวิลลอว์ จึงได้ให้คณะกรรมการจัดทำคำอธิบายกฎหมาย ซึ่งจะกล่าวถึงสาระสำคัญของกฎหมายทั้งหมด ให้เป็นระบบเพื่อสะดวกแก่การศึกษา คำอธิบายกฎหมายนี้มีอยู่ด้วยกัน 4 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นคำอธิบายของไกอัสหรือไกอุ๊ส (Gaius) เป็นแนวทาง
วรรณกรรมกฎหมาย (Digests) บทบัญญัติในส่วนนี้เป็นส่วนรวบรวมข้อคิดและความคิดเห็นของนักกฎหมาย ตั้งแต่ 100 ปีก่อนคริสตกาล เรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 4 ซึ่งเป็นยุคคลาสสิกของกฎหมายโรมัน ซึ่งถือว่าเป็น
ยุคที่กฎหมายโรมันรุ่งเรืองที่สุด ข้อเขียนของนักกฎหมายคนแรกที่รวบรวมไว้คือ Quintus Mucius Scaevola ซึ่งเป็นพระหรือนักบวช ส่วนนักเขียนคนล่าสุด ได้แก่ อาร์เคเดียส คารีเซียส และ Hermoginianus สรุปแล้ว วรรณกรรมกฎหมาย ก็คือความเห็นของนักกฎหมายเอามารวมเล่มไว้ โดยรวบรวมจากหนังสือประมาณ 2,000 เล่ม มารวมเหลือ 50 เล่ม มีประมาณ 150,000 บรรทัด
จัสติเนียนทรงประกาศใช้ Digest ในฐานะที่เป็นกฎหมายด้วย และในขณะเดียวกันก็กำหนดหลักฐานการศึกษาโดยให้ศึกษาจาก Digest ด้วย ถือว่า Digest นี้ แทนหนังสือเก่าทั้งหมด และห้ามมิให้ค้นคว้าหรืออ้างอิงถึงกฎหมายตามหนังสือเก่าโดยเด็ดขาด
ประมวลพระราชบัญญัติ (The Code) ประมวลพระราชบัญญัตินี้รวบรวมตัวบทกฎหมายที่ออกโดยพระจักรพรรดิ ทั้งก่อนรัชสมัยจักรพรรดิคอนสแตนติน และหลังสมัยจักรพรรดิคอนสแตนตินโดยเรียบเรียงเป็นบรรพ เป็นเรื่องรวบรวมเสร็จภายในปีเศษ และประกาศใช้เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.529 หลังจากประกาศใช้แล้วประมาณ 5 ปี ก็มีความจำเป็นจะต้องแก้ไขปรับปรุงใหม่ เพราะว่าล้าสมัย ประมวลกฎหมายฉบับที่สองมีชื่อว่า Justinian’s Code of The Resumed Reading ฉบับนี้ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ฉะนั้นในสมัยจักรพรรดิ จัสติเนียน จะมีประมวลอยู่ 2 ฉบับ
1.     Justinian’s Code หรือ Corpus Juris Civilis ซึ่งยังได้มาไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
2.     Justinian’s Code of The Resumed Reading
นอกจาก 3 ภาค ที่กล่าวแล้วในประมวลกฎหมาย Civil Law ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย (Novellae) เมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายซีวิลลอว์ไปแล้ว จัสติเนียนก็ไม่ได้ทรงนิ่งนอนใจ ทรงทำการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมมายให้ทันสมัยอยู่เสมอ ในระยะหลังก็ออกมาเป็นพระราชบัญญัติ และตั้งพระทัยว่าจะรวบรวม กฎหมายให้เป็นประมวลในโอกาสต่อไป แต่ก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน
        Institutes of Galus คำอธิบายกฎหมายของไกอุ๊ส
        วัตถุประสงค์ของจัสติเนียนในการรวบรวม Digest ก็เพื่อคัดเลือกและรักษาวรรณกรรมกฎหมายคลาสสิกเพื่อให้ Digest ที่ได้รวบรวมเป็นที่รับรอง จัสติเนียนได้ห้ามมิให้อ้างอิงถึงตำราหรือแหล่งกฎหมายอื่น ๆ นอกเหนือจาก Digest และให้มีการทำลายตำรากฎหมายสมัยคลาสสิกจนหมด พร้อมทั้งสั่งให้ผู้ที่รวบรวมเปลี่ยนแปลงแก้ไขตำราที่มีอยู่ให้ตรงกับที่เขียนไว้ใน Digest จะขัดแย้งไม่ได้ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถหาหลักฐานที่แท้จริงของเนื้อหาในกฎหมายสมัยคลาสลิกได้เลย จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ.1861 มีอาจารย์สอนกฎหมายชาวเยอรมันชื่อ Niebuhr ค้นพบหนังสือที่นักเรียนใช้ศึกษาเล่าเรียนเล่มหนึ่ง ที่ใต้ห้องสมุด St. Jerome ซึ่งทราบต่อมาว่าคือ Institutes of Gaius หนังสือเล่มนี้ขากวิ่นหายไปประมาณ 10% มีหลายตอนที่อ่านไม่ได้ และหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับแบบวิธีการฟ้อง ซึ่งเรียกว่า Formulary System
        ใครคือไกอุ๊ส ยากที่จะเดาได้ เพราะมีนักกฎหมายชื่อไกอุ๊กหลายคน แต่เดากันว่าผู้เขียนสังกัดสำนักซาบิเนียน วรรณกรรมของไกอุ๊สได้ถูกนำมาเขียนอยู่ในประมวลกฎหมายซีวิลลอว์ฉบับนี้ เพราะว่าไกอุ๊สเขียนด้วยภาษาง่าย ๆ และเขียนไว้ 18 ตอน ถูกลอกเอาไปใส่ไว้ใน Digest ของจัสติเนียน
        กฎหมายในอาณาจักรโรมันที่สำคัญ ได้แก่
1.     กฎหมายที่กษัตริย์ตราขึ้นมา เรียกว่า Leges Regiae
2.     กฎหมายที่ตราขึ้นโดยประชาชน เรียกว่า Comitia Curiata
3.     กฎหมายที่ตราขึ้นโดยสภากองร้อย หรือ Comitia Centuriata
4.     กฎหมายที่ตราขึ้นโดยสภาเผ่าพันธุ์ หรือ Comitia Tributa โดยกษัตริย์องค์ที่ 6 ของอาณาจักรโรมัน
5.     กฎหมายที่ตราขึ้นโดยสภาสามัญชน หรือ Concilium Plebis
6.     มติของสภาซีเนต (Senate Consulta) เดิมมี 300 คน แล้วมาเพิ่มเป็น 600 สมัยซีซาร์ และมี 900 คน สมัยออกเตเวียน
7.     กฎหมายที่บัญญัติโดยจักรพรรดิ (Imperial Constiturion) ซึ่งประกอบด้วย 5 ส่วน คือ
(1)  Oration เป็นข้อเสนอของจักพรรดิเพื่อให้สภาซีเนตพิจารณา
(2)  Edictum เป็นคำสั่งของจักรพรรดิในฐานะที่เป็นมาจิสเตรทสูงสุด
(3)  Mandatum เป็นคำสั่งของจักรพรรดิมีไปถึงบุคคลเฉพาะราย เช่น ข้าราชการตามหัวเมืองเป็นคำสั่งเกี่ยวกับการบริหาร ซึ่งจัสติเนียนไม่ได้กล่าวถึงเพราะเป็นกฎหมายมหาชน
(4)  Decretum คำชี้ขาดตัดสินที่เสนอให้จักรพรรดิเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งเมื่อจักรพรรดิตัดสินแล้วถือว่าเป็นกฎหมาย
(5)  Rescriptum เป็นคำอุทธรณ์ที่มีไปถึงจักรพรรดิ ซึ่งยังเป็นปัญหาโต้เถียงกันว่าเป็นกฎหมายหรือไม่ และใช้เฉพาะบุคคลไม่ใช่คำสั่งที่ใช้กับบุคคลทั่วไป




ระบบกฎหมายที่สำคัญ
ระบบกฎหมายที่สำคัญในปัจจุบัน มี 2 ระบบ คือ
1) ระบบกฎหมายคอมมอนลอร์ (Common Law) วิวัฒนาการมาจากประเทศอังกฤษ
2) ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ (Civil Law) วิวัฒนาการมาจากกฎหมายโรมัน
 ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ เริ่มจากหลักที่ผู้พิพากษาได้ตัดสินคดีและเหตุผลของคำตัดสินในคดีหนึ่งจะมีผลเป็นการสร้างหรือประกาศกฎหมาย ให้คดีอื่นในภายหลังซึ่งมีข้อเท็จจริงเหมือนกันในคดีแรกที่ได้ตัดสินไว้แล้วต้องตัดสินตาม ดังนั้น กม. ที่ใช้ในการตัดสินคดีจึงเกิดจากแนวบรรทัดฐานของคำตัดสินที่ผู้พิพากษาเคยได้ตัดสินไว้
ต่อมาเมื่อมีรัฐสภาเกิดขึ้น รัฐสภาเข้ามามีบทบาทในการตรากฎหมายเพื่อบังคับใช้ เนื้อหาของกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาอาจเกิดจากความจำเป็นในการสร้างกฎเกณฑ์ในสังคมใหม่ๆ เพราะหากต้องผูกพันตามคำพิพากษาที่ตัดสินไว้เดิมก็จะไม่สามารถสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ให้สังคมต้องเดินตามได้ หรือเนื้อหาของกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาอาจเกิดจากเหตุผลเทคนิคที่ไม่สามารถใช้หลักคอมมอนลอว์ปกติวินิจฉัยได้
ดังนั้นในสังคมสมัยใหม่จึงต้องมีกฎเกณฑ์ที่ออกโดยรัฐสภาใช้บังคับควบคู่กับกฎหมายคอมมอนลอว์เดิมที่เคยวางบรรทัดฐานเอาไว้ อย่างไรก็ตามถือว่ากฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาดังกล่าวเป็นกฎหมายยกเว้นที่ศาลจะตีความโดยเร่งครัด โดยถือว่ากฎหมายที่เป็นหลักก็คือ แนวบรรทัดฐานในคดีเดิม ซึ่งศาลเคยได้ตัดสินไว้นั้นเอง
ระบบกฎหมายซีวิลลอว์เป็นระบบกฎหมายที่วิวัฒนาการมาจากกฎหมายโรมัน ซึ่งนักปราชญ์ชาวโรมันได้พยายามรวบรวมกฎหมายมาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยในระยะแรกประมาณ 451 ปีก่อนคริสต์ศักราช นักปราชญ์ชาวโรมันได้รวบรวมกฎหมายจารีตประเพณีมาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ ดังที่รู้จักในนามกฎหมายสิบสองโต๊ะ (The Twelve Tables Laws) ซึ่งได้บัญญัติครอบคลุมถึงกฎหมายควบคุมความประพฤติของสังคม โดยอาศัยจารีตประเพณีที่สั่งสมมารวมทั้งศาสนาเพื่อเป็นแนวทางในการบัญญัติ
ต่อมาในสมัยพระเจ้าจัสติเนียน ค.ศ. 528 กฎหมายโรมันได้เจริญถึงขีดสุดโดยที่พระเจ้าจัสติเนียนได้แต่งตั้งให่นักปราชญ์รวมกฎหมายโรมัน ให้มีลักษณะเป็นหมวดหมู่ เรื่องใดที่มีลักษณะเหมือนกันก็สังเคราะห์ให้เป็นกฎหมายทั่วไป และเรียกกฎหมายที่ได้รวบรวมขึ้นเป็นหลักทั่วไปดังกล่าวง่า “คอร์ปัส จูริส ซิวิลิส (Corpus Juris Civilis)
วิธีบัญญัติกฎหมายโดยนำกฎหมายที่มีอยู่มาบัญญัติแยกให้เป็นหมวดหมู่และสังเคราะห์ส่วนที่เหมือนกันให้เป็นบททั่วไป เพื่อเป็นหลักสำหรับบัญญัติอื่นๆ ของกฎหมายโรมันเช่นนี้ ถือเป็นแม่แบบสำหรับประเทศในโลกต่อๆ มา โดยเรียกกลุ่มประเทศที่ได้บัญญัติกฎหมายโดยรวมกฎหมายเข้าด้วยกันแล้ว จัดแยกให้เป็นหมวดหมู่เพื่อสังเคราะห์ส่วนที่เหมือนกันให้เป็นบททั่วไปว่า กลุ่มระบบกฎหมายซิวิลลอร์ ซึ่งมีรากฐานมาจากการบัญญัติกฎหมายซีวิลของชาวโรมันนั่นเอง