กฎหมายไทยสมัยเก่า

กฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี
      อาณาจักรอยุธยา เป็นอาณาจักรของไทยในอดีต มีหลักฐานของการเป็นเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 โดยมีร่องรอยของที่ตั้งเมือง โบราณสถาน โบราณวัตถุ และเรื่องราวเหตุการณ์ในลักษณะตำนาน พงศาวดารไปจนถึงศิลาจารึก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานร่วมสมัยที่ใกล้เคียงเหตุการณ์มากที่สุด ว่าก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ใน พ.ศ. 1893 นั้น ได้มีบ้านเมืองตั้งอยู่ก่อนแล้ว มีชื่อเรียกว่า เมืองอโยธยา หรือ อโยธยาศรีรามเทพนคร หรือ เมืองพระราม มีที่ตั้งอยู่บริเวณด้านตะวันออกของเกาะ เมืองอยุธยาเป็นเมืองที่มีความเจริญทางการเมืองการปกครอง และมีวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองแห่งหนึ่ง มีการใช้กฎหมายในการปกครอง 3 ฉบับ คือ พระอัยการลักษณะเบ็ดเสร็จ พระอัยการลักษณะทาส และพระอัยการลักษณะกู้หนี้ สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จุลศักราช 712 ตรงกับวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893 มีชื่อตามพงศาวดารว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา มหินทรายุธยา มหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ กฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี



คัมภีร์พระธรรมศาสตร์
     เป็นคัมภีร์แห่งความยุติธรรม เป็นตัวบทกฎหมายที่มาจากอินเดียที่กำหนดหลักเกณฑ์ ความประพฤติปฏิบัติสำหรับประชาชนทั่วไป รวมทั้งพระเจ้าแผ่นดินด้วย คือ พระเจ้าแผ่นดินก็อยู่ภายใต้บังคับของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ซึ่งแต่เดิมเป็นคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์ เมื่อเข้ามาในประเทศไทยก็ถูกดัดแปลงให้เป็นคัมภีร์ในศาสนาพุทธ โดยเหตุนี้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์จึงมีลักษณะเทียบได้กับกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นเอง พระเจ้าแผ่นดินอาศัยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ตราเป็นกฎหมายขึ้นมา เรียกว่า พระราชศาสตร์
ข้อสำคัญคือ ไทยได้นำเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาใช้เป็นหลักตั้งแต่เมื่อใด ในเรื่องนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ “ตำนานกฎหมายเมืองไทยและประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร์ ที่ว่า ไทยเราน่าจะนำเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เข้ามาใช้เป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายตั้งแต่เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมาธิราช (พ.ศ.๒๑๑๒-๒๑๓๓) เมื่อกรุงศรีอยุธยาเกี่ยวข้องกับกรุงหงสาวดี ในลักษณะที่เป็นภาษารามัญ และมีผู้แปลพระธรรมศาสตร์จากภาษารามัญออกเป็นภาษาไทยในแผ่นดินเดียวกันนี้เอง หรือมิฉะนั้นก็ในแผ่นดินของสมเด็จพระเอกาทศรถ อย่างไรก็ตาม ไทยกับมอญได้มีการติดต่อสัมพันธ์กันก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ ไทยมีความสัมพันธ์กับมอญ ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง     ประกอบกับสมเด็จมหาสมณเจ้ากรมพระยา  ชิรญาณวโรรสทรงมีความเห็นว่า คาถาที่ปรากฏในกฎหมายไทย ตั้งแต่คำมนัสการจนถึงพระธรรมศาสตร์ มีลักษณะคล้ายกับคาถามนมัสการในหนังสือไตรภูมิพระร่วง จนเกือบจกสันนิษฐานไว้ว่าผู้แต่งเป็นคนเดียวกัน กฎหมายไทยจึงน่าจะจัดหมวดหมู่ตามพระธรรมศาสตร์มาแต่ครั้งสมัยสุโขทัย ประกอบกับศิลาจารึกหลักที่ ๓๘ ซึ่งมีข้อความบัญญัติการกระทำความผิดฐานได้เข้า (คนรับใช้) หรือภรรยาของผู้อื่นไว้ไม่ส่งคืน จะต้องถูกลงโทษปรับไหมตามขนาดในราชศาสตร์ ธรรมศาสตร์จึงน่าจะถือได้ว่ากฎหมายไทยได้นำเอาหลักกฎหมายในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงไม่มีข้อใดกล่าวอ้างถึง


ที่มาของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์หลักอินทภาษ
   คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ คือ คัมภีร์แห่งความยุติธรรม ซึ่งใช้กับประชาชนทุกคนและพระเจ้าแผ่นดิน คือ พระเจ้าแผ่นดินก็อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ด้วยเหตุนี้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์จึงเปรียบเสมือนกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ พระเจ้าแผ่นดินก็อาศัยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาตราเป็นกฎหมายปลีกย่อย เรียกว่า พระราชศาสตร์


คัมภีร์พระธรรมศาสตร์เกิดขึ้นมาอย่างไร
     มีเรื่องเล่ากันว่า มีท้าวมหาพรหมองค์หนึ่ง ซึ่งพรหมเทวะจุติจากพรหมโลก แล้วมากำเนิดในตระกูลมหาอำมาตย์ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นข้าของสมเด็จพระมหาสมมุติราช ครั้งอายุได้ ๑๕ ก็เข้ารับราชการแทนที่บิดา ต่อมาเห็นสัตว์โลกทั้งหลายได้รับความทุกข์ยาก จึงมีความปรารถนาจะให้พระเจ้าสมมุติราชตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม จึงถวายบังคมลาออกไปบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่าหิมพานต์ จำเริญภาวนาได้อภิญญา ๕ อรรถสมาบัติ ๘ และบริโภคพืชเป็นอาหาร มีเทพกินรี กินนร คนธรรม์เป็นบริวาร ต่อมาพระเทวะฤาษีก็ได้เสียเป็นผัวเมียกับกินรีนางหนึ่ง จนเกิดบุตร ๒ คน คนแรกชื่อภัทรกุมาร อีกคนชื่อพระมโนสาร เมื่อบุตรทั้ง ๒ คน เจริญเติบโตก็ได้บวชเป็นฤาษีจำศีลภาวนาและรับใช้บิดา มารดา จนกระทั่งบิดา มารดาถึงแก่ความตาย ภัทรกุมารก็ได้ละเพศฤาษีไปรับราชการเป็นปุโรหิตสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราช เพราะมีความรู้พระเวทย์ต่าง ๆ พระมโนสารก็ละเพศฤาษีตามพี่ชายออกไปรับราชการ พระเจ้าสมมุติราชก็ตั้งให้เป็นผู้พิพากษา อยู่มาวันหนึ่งมีชาย ๒ คน ทำไร่แตงติดกัน เมื่อปลูกแตงแล้วเอาดินมาพูนเป็นถนนกั้นกลางระหว่างไร่แตงทั้งสอง เถาแตงได้เลื้อยมาพันกันจนเป็นต้นเดียวกัน จนกระทั่งเกิดเป็นผลขึ้นมา ชาย ๒ คน ต่างก็จะไปเก็บเอาผลแตง จึงเกิดการทะเลาะกัน พระเจ้าสมมุติราชจึงให้พระมโนสารไปตรวจสอบดู พระมโนสารชี้ว่า ลูกแตงอยู่ในที่ของใคร คนนั้นก็เป็นเจ้าของผลแตง ซึ่งชายทั้ง ๒ ก็ไม่พอใจในคำตัดสินของพระมโนสาร จึงอุทธรณ์คำตัดสินไปยังพระเจ้าสมมุติราช ๆ จึงให้อำมาตย์อีกคนไปดู อำมาตย์คนนี้จึงไปแยกเถาแตงออกจากกันก็พบว่า ลูกแตงนั้นเป็นของต้นใด ชายทั้ง ๒ จึงพอใจในคำตัดสินของอำมาตย์คนนั้น ประชาชนจึงพากันติฉินนินทาพระมโนสารว่า ตัดสินความโดยมีอคติ ๔ ประการ ทำให้พระมโนสารเกิดความเสียใจหนีออกไปบวชเป็นฤาษีและเจริญภาวนาจนได้อภิญญา ๕ อรรถสมบัติ ๘ และมีความประสงค์จะให้พระเจ้าสมมุติราชตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ จึงได้เหาะไปที่กำแพงจักรวารมีปริมณฑลเท่ากาย คชสาร แล้วจดเอาบาลีคัมภีร์พระธรรมศาสตร์สั่งสอนพระเจ้าสมมุติราช เหตุที่ต้องเขียนคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ในลักษณะที่พิสดาร ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า คัมภีร์พระธรรมศาสตร์นั้นไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์เขียนขึ้นมา แต่เป็นเรื่องที่เขียนขึ้นมาโดยผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ เพื่อให้เกิดอำนาจในการบังคับบัญชา การที่ประชาชนพากันติฉินนินทาพระมโนสารว่า ตัดสินความโดยมีอคติ ๔ ประการ เรียกว่า หลักอินทรภาษคือ คำสั่งสอนของพระอินทร์ที่มีต่อบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นตุลาการว่า การที่จะเป็นตุลาการที่ดีนั้นจะต้องไม่มีอคติ ๔ ประการ คือ
๑.      ฉันทาคติ (รัก)
๒.      โทสาคติ (โกรธ)
๓.      ภยาคติ (กลัว)
๔.      โมหาคติ (หลง)
รัก เพราะเป็นลูก เป็นเมีย เป็นญาติ
โกรธ เพราะเป็นคู่อาฆาต คู่ศัตรู
กลัว เพราะโจทก์เป็นผู้มีอำนาจ ถ้าไม่ตัดสินลงโทษจำเลยก็กลัว
หลง คือ ความไม่รู้จริงอาจทำให้ตัดสินผิด ๆ ได้
ฉะนั้น ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์จึงบอกว่า การเป็นตุลาการที่ดีจะต้องไม่มีอคติ ๔ ประการนี้ และต้องตัดสินความตามพระธรรมศาสตร์ โดยครองธรรมอันเป็นจัตุรัส คือ เป็นรูป ๔ เหลี่ยมไม่พลิกไปพลิกมา ใครก็ตามถ้าตัดสินความโดยมีอคติ ก็จะทำให้ชีวิตเสื่อมถอยประดุจพระจันทร์ข้ามแรม ใครก็ตามที่ตัดสินความโดยปราศจากอคติ ๔ ประการ ก็จะทำให้อิสริยยศ ลาภยศต่าง ๆ เจริญรุ่งเรืองประดุจพระจันทร์ข้างขึ้น นี่คือหลักอินทภาษ
๒  พระราชศาสตร์ ตราขึ้นโดยใช้พระธรรมศาสตร์เป็นหลัก พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการตราพระราชศาสตร์ เพื่อให้เหมาะสมกับประเพณีปฏิบัติและสถานการณ์ที่แตกต่างในแต่ละสมัย
๒.๑.  พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำในการปกครองและรักษากฎหมาย แรกเริ่มเดิมทีเมื่อมนุษย์ได้เริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน มนุษย์มีความต้องการผู้นำ เพื่อให้เป็นผู้ใช้อำนาจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย แก้ปัญหาการวิวาททะเลาะโต้เถียงกัน ลงโทษผู้ที่ข่มเหงรังแกคนอื่น และออกกฎกติกาขึ้นควบคุมการกระทำผิดในชุมชน ครั้นเมื่อชุมชนเจริญขยายตัวเป็นแคว้นหรืออาณาจักร ความต้องการของประชาชนในลักษณะเช่นนี้ยังมีอยู่ต่อมา ด้วยเหตุนี้หน้าที่หลักของพระมหากษัตริย์ในยามสงบ คือ ทรงเป็นผู้นำในการปกครองดูแลความสงบเรียบร้อยในพระราชอาณาจักร ปราบปรามโจรผู้ร้ายป้องกันประชาชนมิให้ถูกข่มเหงจากเจ้านาย และขุนนางที่มีอำนาจ และดูแลให้มีความยุติธรรมตามแนวทางของกฎหมาย
ธรรมศาสตร์เป็นกฎหมายหลัก และสำคัญที่สุดของสมัยกรุงศรีอยุธยา และเชื่อกันว่าเป็นกฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์ พระมหากษัตริย์มิใช่ผู้ตราคัมภีร์ธรรมศาสตร์ แต่เชื่อกันว่าคัมภีร์ธรรมศาสตร์นี้ พระมะโนสารฤาษี หรือมนูสาร ผู้สืบเชื้อสายมาจากท้าวมหาพรหมเป็นผู้ไปได้มาจากกำแพงจักรวาลในสมัยที่อายุของมนุษย์ได้ “อสงไชย” หนึ่ง พระมะโนสาร จึงพยายามจดจำคัมภีร์นั้นจนครบถ้วน และเหาะกลับมาเขียนคัมภีร์ธรรมศาสตร์ตามที่จดจำขึ้นไว้เป็นหลักให้พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติในการปกครองประเทศ คัมภีร์ธรรมศาสตร์จึงนิยมเรียกว่า คัมภีร์พระมนูธรรมศาสตร์ และคัมภีร์ธรรมศาสตร์นี้ได้บัญญัติหลักธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์ไว้ ตลอดจนหลักการพิพากษาคดีต่าง ๆ และลักษณะของผู้พิพากษาไว้ด้วย สำหรับอาณาจักรอยุธยานั้นพระมหากษัตริย์ทรงมีหน้าที่ดูแลให้การปกครองและตัดสินคดีไปตามพระธรรมศาสตร์ ด้วยเหตุนี้นักวิชาการกฎหมายจึงให้ความเห็นว่าหน้าที่หลักของพระมหากษัตริย์แต่แรก นั่นคือ ทรงเป็นผู้รักษากฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์ แต่มิได้เป็นผู้ออกกฎหมาย
๒.๒. พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ตรากฎหมาย ความจริงแล้วพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ตรากฎหมายขึ้นด้วย ทั้งนี้เพราะสถานการณ์ในอาณาจักรอยุธยาย่อมต้องแตกต่างไปจากความเป็นไปของอาณาจักรอื่น ๆ เช่น อินเดียโบราณ หรือมอญโบราณ หากมีกรณีที่มิได้มีข้อตัดสินระบุไว้ในพระธรรมศาสตร์ต้องอาศัยพระราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์เป็นทางตัดสินและพระราชวินิจฉัยนี้คือ กฎหมาย พระราชวินิจฉัย หรือคำตัดสินของพระมหากษัตริย์ปรากฏในชื่อว่าพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติ โดยเรียกรวมกันว่า พระราชศาสตร์ เพื่อมิให้บทบาทของพระมหากษัตริย์ขัดแย้งกับแนวทางแต่โบราณ คือเป็นผู้รักษากฎหมาย มิใช่เป็นผู้ออกกฎหมาย และเพื่อให้พระราชศาสตร์มีอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ พระมหากษัตริย์จึงทรงออกพระราชศาสตร์โดยอิงตัวบทในพระธรรมศาสตร์
๒.๓. พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้พิพากษาสูงสุดและทรงรับฎีกาจากประชาชน พระมหากษัตริย์ทรงมีหน้าที่วินิจฉัยคดีที่ผู้พิพากษาไม่สามารถตัดสินได้ แต่หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพระมหากษัตริย์คือ พระองค์ทรงเป็นผู้พิพากษาสูงสุดของอาณาจักร หลักฐานมากมายในประวัติศาสตร์ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงทำหน้าที่ผู้พิพากษาสูงสุดเมื่อบรรดาลูกขุนไม่สามารถตัดสินคดีนั้นได้ หรือเมื่อมีปัญหาทำให้ตัดสินคดีล่าช้าหรือประชาชนไม่พอใจคำพิพากษา เพราะเห็นว่าไม่ยุตธรรม บรรดาลูกขุน ขุนนาง หรือประชาชนก็นำเรื่องขึ้นกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงตัดสิน หากเป็นเรื่องที่ประชาชนนำขึ้นร้องเรียนเรียกว่า “ฎีกา” โดยมีตัวอย่างจากกฎหมายตราสามดวงดังนี้
ในพระไอยการลักษณะตระลาการซึ่งตราขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ให้เจ้าหน้าที่ในตำแหน่ง “นายมหาดไทย” ตรวจดูความทุกกรมกองปีละ ๓ ครั้ง เพื่อดูว่ามีความคั่งค้างอยู่หรือไม่ ถ้ามีความใดมีปัญหาตัดสินไม่ได้ ให้ประชุมเสนาบดีจตุสดมภ์ช่วยกันพิจารณาก่อน ถ้าไม่สำเร็จจึงให้กราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงตัดสินดังนี้
“อนึ่ง ถ้าความนั้นข้องขัดจะพิพากษาบังคับบัญชายากไซร้ ให้ขุนกาลชุมนุมจตุสดมภ์ให้ช่วยว่า ถ้าพิพากษามิได้ ให้เอากราบบังคมทูลพระพุทธเจ้าอยู่หัวจะตรัสเอง”
ส่วนหลักฐานเรื่องการรับฎีกาจากประชาชนนั้น ปรากฏว่าราษฎรไม่พอใจการสอบสวนคดีของตระลาการ สามารถทำหนังสือฎีกาขึ้นกราบทูลพระมหากษัตริย์ได้ และพระมหากษัตริย์ทรงพิจารณามอบหมายให้ราชการที่ทรงไว้พระทัยเป็นผู้สอบสวนตระลาการนั้น” หากประชาชนมีเรื่องเดือดร้อนประการใด แม้ได้ทำเรื่องร้องเรียนมูลนายที่บังคับบัญชาแล้วมูลนายมิเอาธุระ ประชาชนสามารถร้องเรียนสูงขึ้นไปยังลูกขุน ณ ศาลา คือ พวกเสนาบดีได้หากลูกขุน ณ ศาลาไม่รับเอาธุระ ก็ให้ทำฎีกาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ได้ในที่สุด
ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ พระองค์ได้ทรงกำหนดลักษณะฎีกาของราษฎรที่จะนำถวายต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง หรือจะให้นำไปให้กรมกองต่าง ๆ พิจารณาการคัดเลือกฎีกานี้ให้เป็นหน้าที่ของสมุหนายก และสมุหกลาโหม สุดแล้วแต่ว่าฎีกานั้นมาจากประชาชนที่เป็นฝ่ายพลเรือนหรือทหาร สำหรับฎีกาที่สามารถนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ได้มีดังนี้คือ เรื่อง “....ผู้คัดมิชอบแล้วกระทำร้ายแก่แผ่นดินให้จลาจลก็ดี แลลักเอาพระราชทรัพย์ของหลวงก็ดี แลบังช้างม้าผู้คนไร่นา อากอรซึ่งเป็นหลวงนั้นไว้เป็นอนาประโยชน์อาตมาก็ดี เบียดบังสารบาญชีไพร่หลวงแลสังกัดพ้นไว้ก็ดี แลอนึ่งไปครองเมืองแลรั้งเมือง แลทำข่มเหงกันโชกราษฎรไพร่เมืองให้แตกฉานซ่านเซนหนีไปก็ดี อนึ่ง ลูกขุนพิพากษาอรรถคดีแลมี (มิ) เตมใจในความพิพากษาก็ดี อนึ่งไปราชการก็ดี ไปด้วยกิจตนเองก็ดี แลทำการรุกราชบาท และทำกันโชกราษฎรทั้งปวงก็ดี...” หากร้องเรียนข้อความดังกล่าวข้างต้น ก็ให้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ได้ แต่หากเป็นความชนิดอื่น ๆ เช่น ความมรดก คดีแพ่ง คดีอาญา โดยทั่วไป เป็นต้น ให้ทำเรื่องเสนอกรมกองที่มีหน้าที่พิจารณาคดีนั้น
อำนาจในการสั่งลงโทษผู้มีความผิดถึงขั้นประหารชีวิต เป็นสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว แต่พระมหากษัตริย์อาจทรงมอบหมายอำนาจนี้ให้แก่ข้าราชการเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ไปได้โดยเรียบร้อยในบางกรณี เช่น ทรงมอบให้แม่ทัพในยามสงคราม เป็นต้น
๒.๔ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้สนับสนุนศาสนาและศิลปกรรมต่าง ๆ หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งในยามสงบของพระมหากษัตริย์คือ ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก โดยทรงบำรุงรักษาและปกป้องพระพุทธศาสนา หน้าที่ในด้านนี้ ได้แก่ การสร้างวัด ให้ที่ดินแก่วัด จัดสรร “ข้า” หรือ “ทาส” ให้แก่วัด ทรงแต่งตั้งตำแหน่งต่าง ๆ ในทางศาสนจักร และทรงเป็นแบบอย่างของผู้ที่อยู่ในศีลธรรมอันดี และทรงสนับสนุนให้ประชาชนอยู่ในศีลธรรมอันดีด้วย หน้าที่ในทางศาสนานี้ยังรวมถึงการที่ต้องทรงเป็นประธานในพระราชพิธีต่าง ๆ ที่ทางศาสนาจัดขึ้น เพื่อความผาสุกของประชาชน เช่น พิธีแรกนาขวัญ พระราชพิธีอาพาธวินาศ พระราชพิธีของฝน เป็นต้น นอกจากนั้นพระมหากษัตริย์ยังทรงถือเป็นพระราชภารกิจสำคัญของพระองค์ในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ เป็นต้น
๒.๕ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นแม่ทัพสูงสุด ในยามศึกสงครามนั้น พระมหากษัตริย์ทรงทำหน้าที่เป็นแม่ทัพ ทรงนำกำลังออกต่อสู้ข้าศึกเพื่อป้องกันราชอาณาจักร พระมหากษัตริย์ที่มีความสามารถในการรบย่อมได้รับการยกย่องและความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก หน้าที่ในด้านนี้ถือเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของพระองค์ หากพระมหากษัตริย์พระองค์ใดทรงบกพร่องในหน้าที่ก็เปิดโอกาสให้มีการกบฏยึดพระราชอำนาจเสียได้ หน้าที่ในด้านการป้องกันข้าศึกนี้รวมไปถึงการสร้างมาตรการป้องกันบ้านเมือง เช่น สร้างป้อมปราการ สะสมอาวุธ อาหาร เกณฑ์ไพร่พล และหาสัตว์พาหนะในการศึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช้างปรากฏบ่อยครั้งว่าพระมหากษัตริย์เสด็จออกต่อช้างป่าด้วยพระองค์เอง”
๒  การศาล
            วิธีการพิจารณาและพิพากษาคดีในสมัยกรุงศรีอยุธยาคงถือประเพณีโบราณว่า พระมหากษัตริย์เป็นผู้พิพากษาสูงสุด แต่ใช้วิธีที่เอาแบบอบย่างของอินเดียมาผสมกับแบบไทย ซึ่งแตกต่างไปจากประเทศอื่น โดยแยกหน้าที่ออกเป็น ๒ ฝ่าย และใช้บุคคล ๒ ประเภทเป็นพนักงานตุลาการ ประเภทที่หนึ่ง เป็นพราหมณ์ชึ่งเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ เรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลหลวงมี ๑๒ คน หัวหน้าคือ พระมหาราชครูปุโรหิต และพระมหาราชครูมหิธร โดยถือศักดินาเทียบเจ้าพระยา หน้าที่ของลูกขุน ณ ศาลหลวง คือ ตรวจสำนวนชี้ตัวบทกฎหมาย แล้วตัดสินว่าฝ่ายใดผิดหรือชอบ แต่มิได้มีอำนาจในการบังคับบัญชาคดีในโรงศาล ประเภทที่สอง เป็นพนักงานที่เป็นคนไทย เรียกว่า ตุลาการ เป็นผู้บังคับคดีให้เป็นไปตามกฎหมายที่ลูกขุน ณ ศาลหลวงได้กำหนดไว้ ในกรณีที่คู่ความคนใดไม่พอใจในคำพิพากษาอาจถวายฏีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้ แต่การถวายฎีกาก็ทำได้ไม่ง่ายนัก ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ถวายฎีกาพร่ำเพรื่อจนเกินไป
            ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกศาลจากกรมลูกขุนออกไปให้กรมต่าง ๆ รับผิดชอบ คงไว้แต่ศาลแพ่งกลางและศาลแพ่งเกษม ซึ่งรับผิดชอบ แต่ความแห่งคดีความที่ไม่สำคัญ ส่วนคดีความที่สำคัญ ๆ ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรได้ยุติคดีความโดยเร็วกว่าปกติ ก็ให้ยกไปไว้ในกรมต่าง ๆ หรือให้เสนาบดีดูแลรับผิดชอบกรมนั้น ๆ ได้เร่งรัดควบคุมให้การพิจารณาคดีความเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
            ระเบียบการศาลดังกล่าวนี้ได้ใช้ปฏิบัติกันเรื่อยมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลของไทยตามแบบประเทศตะวันตก
            ๓  กระบวนการยุติธรรม
            เดิมทีนั้นสังคมไทยใช้จารีตประเพณีส่วนใหญ่เป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับในชุมชนสืบต่อกันมา ทางกรุงศรีอยุธยาเพิ่มมีกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรใช้อย่างเป็นหลักฐานในภายหลังกฎหมายของกรุงศรีอยุธยามีที่มาและจำแนกได้ดังนี้
๑. คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์หรือมูลคดีเป็นกฎหมายแม่บทที่ใช้เป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายย่อยขึ้นบังคับใช้ ไทยได้แบบอย่างกฎหมายนี้มาจากคัมภีร์ธรรมสัตถัมของมอญ และมอญเองก็ได้ดัดแปลงคัมภีร์ดังกล่าวนี้มาจากคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ของอินเดียอีกต่อหนึ่ง โดยตัดตอนเอาส่วนที่เป็นศาสนา
พราหมณ์ – ฮินดูออกคงเหลือไว้เฉพาะส่วนที่เป็นกฎหมายแท้ ๆ ไว้
                        ๒. พระราชศาสตร์ พระราชศาสตร์หรือสาขาคดีเป็นกฎหมายย่อยที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นใช้ในรูปพระราชกำหนด บทพระอัยการและพระราชบัญญัติ


กฎหมายในสมัยกรุงรัตนโกสิน
กรุงรัตนโกสินทร์ หรือ "กรุงเทพมหานคร" เป็นราชธานีของไทย ตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับที่ตั้งของกรุงธนบุรี โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระนครขึ้น โดยทำพิธีตั้งเสาหลักเมืองของพระนครใหม่ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ เวลาย่ำรุ่งแล้ว 45 นาที ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325





กฎหมายตราสามดวง
กฎหมายตราสามดวง คือ ประมวลกฎหมายในรัชกาลที่ 1 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายเก่า ที่มีมาแต่ครั้งโบราณ แล้วรวบรวมเป็นประมวลกฎหมายขึ้นเมื่อ จุลศักราช 1166 ตรงกับ พ.ศ. 2347 โปรดให้เรียกว่า “กฎหมายตราสามดวง” ให้อาลักษณ์ชุบเส้นหมึกสามชุด แต่ละชุดประทับตรา 3 ดวง คือ ตราพระราชสีห์ (สำหรับตำแหน่งสมุหนายก) 1 ตราพระคชสีห์ (สำหรับตำแหน่งสมุหพระกลาโหม) 1 และตราบัวแก้ว (สำหรับตำแหน่งโกษาธิบดี หมายถึงพระคลัง ซึ่งดูแลรวมทั้งกิจการด้านต่างประเทศ) ไว้ทุกเล่มเก็บไว้ ณ ห้องเครื่องชุดหนึ่ง หอหลวงชุดหนึ่ง และศาลหลวงอีกชุดหนึ่ง
กฎหมายตราสามดวงนี้ ได้ใช้อาลักษณ์หลายท่านเขียนขึ้น โดยแยกเป็น “ฉบับหลวง” และ “ฉบับรองทรง” โดยสันนิษฐานว่า สำหรับฉบับหลวง ชุดหนึ่งเป็นสมุดไทย 41 เล่ม เมื่อรวม 3 ชุด จึงมีทั้งสิ้น 123 เล่ม แต่เท่าที่พบ ในปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 79 เล่ม โดยเก็บไว้ที่กระทรวงยุติธรรม 37 เล่ม และที่หอสมุดแห่งชาติ 41 เล่ม ส่วนอีก 44 เล่ม ไม่ทราบว่าขาดหายไปด้วยประการใด ส่วน ฉบับรองทรง นั้น ก็คือ กฎหมายตราสามดวงที่อาลักษณ์ชุดเดียวกับที่เขียนฉบับหลวง ได้เขียนขึ้น โดยเขียนในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยฉบับหลวง เขียนในปีฉลู จ.ศ.1167 (พ.ศ. 2348) ส่วนฉบับรองทรงเขียนขึ้นในปีเถาะ จ.ศ. 1169 (พ.ศ. 2350) ข้อแตกต่างระหว่าง ฉบับหลวง และฉบับรองทรง ก็คือ ฉบับรองทรงจะไม่มีตราสามดวงประทับไว้ และฉบับหลวงจะมีอาลักษณ์สอบทาน 3 คนส่วนฉบับรองทรงมีอาลักษณ์สอบทานเพียง 2 คน สำหรับกฎหมายตราสามดวง ฉบับรองทรงนี้ ปัจจุบันนี้พบเพียง 18 เล่ม โดยเก็บรักษาไว้ที่ หอสมุดแห่งชาติ 17 เล่มและที่พิพิธภัณฑ์อัยการไทย สำนักงานอัยการสูงสุด 1 เล่ม
มูลเหตุของการชำระกฎหมายตราสามดวง
กฎหมายที่ใช้กันอยู่ในระยะแรกของกรุงรัตนโกสินทร์นั้นก็คือกฎหมายที่ใช้อยู่เมื่อครั้ง กรุงศรีอยุธยา โดยอาศัยความจำ และการคัดลอกมาตามเอกสารที่หลงเหลือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงทำการวินิจฉัยเรื่องต่างๆ โดยอาศัยมูลอำนาจอธิปไตยของ พระองค์เองบ้าง อาศัยหลักฐานที่ได้จากการสืบสวน ฟังคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บ้างจนกระทั่งได้เกิดคดีขึ้นคดีหนึ่งและมีการทูลเกล้าฯถวายฎีกา คดีที่เกิดขึ้นนี้แม้เป็นคดีฟ้องหย่าของชาวบ้านธรรมดา แต่ที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์กฎหมาย ก็คือผลจากคดีนี้เป็นต้นเหตุให้นำมา ซึ่งการชำระสะสางกฎหมายในสมัยนั้น เป็นคดีที่อำแดงป้อม ฟ้องหย่านายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ทั้งๆ ที่ตนได้ทำชู้ กับ นายราชาอรรถ และศาลได้พิพากษาให้หย่าได้ตามที่อำแดงป้อมฟ้อง โดยอาศัยการพิจารณาคดีตามบทกฎหมาย ที่มีความว่า “ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเป็นหญิงหย่าชาย หย่าได้”
เมื่อผลของคดีเป็นเช่นนี้ นายบุญศรีจึงได้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าถวายฎีกา ต่อพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ทรงเห็นด้วยกับฎีกาว่าคำพิพากษาของศาลนั้น ขัดหลักความยุติธรรม ทรงสงสัยว่าการพิจารณาพิพากษาคดีจะถูกต้องตรงตามตัวฉบับกฎหมายหรือไม่ จึงมีพระบรมราชโองการ ให้เทียบกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ศาลใช้กับฉบับที่หอหลวงและที่ห้องเครื่อง แต่ก็ปรากฏ ข้อความที่ตรงกัน เมื่อเป็นดังนี้ จึงทรงมีพระราชดำริว่ากฎหมายนั้นไม่เหมาะสม อาจมีความคลาดเคลื่อนจากการคัดลอก สมควรที่จะจัดให้มีการชำระสะสางกฎหมายใหม่ เหมือนการสังคายนา พระไตรปิฎกจากคดีอำแดงป้อมดังกล่าวข้างต้น ได้แสดงให้เห็นหลักกฎหมายสำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายที่ว่าแม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ต้องให้ความสำคัญและปฏิบัติตามไม่มีพระราชอำนาจที่จะแก้ไข เปลี่ยนแปลงกฎหมาย ตามอำเภอใจ
ในคดีนี้แม้จะทรงเห็นว่าคำตัดสินนั้นไม่สอดคล้องกับความยุติธรรม อันอาจเนื่องมาจากการคัดลอกกฎหมายมาผิด ก็ชอบที่จะจัดให้มีการชำระสะสางกฎหมายให้กลับไปสู่ความถูกต้องเหมือนการสังคายนาพระไตรปิฎก ดังพระราชปรารภที่ว่า “ให้กรรมการชำระพระราชกำหนดบทพระอายการ อันมีอยู่ในหอหลวง ตั้งแต่พระธรรมศาสตร์ไปให้ถูกถ้วน ตามบาฬีและเนื้อความ มิให้ผิดเพี้ยนซ้ำกัน ได้จัดเป็นหมวด เป็นเหล่าเข้าไว้ แล้วทรงอุตสาห ทรงชำระดัดแปลง ซึ่งบทอันวิปลาดนั้นให้ชอบโดยยุติธรรมไว้
ความสำคัญของกฎหมายตราสามดวง
1. กฎหมายตราสามดวงมีลักษณะเป็นกฎหมายของนักกฎหมาย (Juristenrecht) กล่าวคือ กฎเกณฑ์ส่วนใหญ่ของกฎหมายตราสามดวงโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นพระธรรมศาสตร์ ที่มีลักษณะทั่วไปและมีฐานะสูงกว่าจารีตประเพณี มีการจัดระบบกฎหมายที่เป็นระบบและมีการใช้เหตุผลของนักกฎหมายปรุงแต่ง
2. กฎหมายตราสามดวงมีลักษณะที่เป็นกฎหมายธรรมชาติ ทุกคนแม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย
3. ไม่มีการบัญญัติโดยแท้ บทกฎหมายใหม่นี้จึงเป็นผลงานของ นักกฎหมาย อันได้แก่ ศาลและพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงเป็นนักกฎหมายด้วย ไม่ใช่กฎหมาย ที่บัญญัติขึ้นด้วยเหตุผลทางเทคนิค โดยกระบวนการนิติบัญญัติอย่างปัจจุบัน
4 .มีความนับถือตัวบทกฎหมาย เชื่อว่าไม่มีใครสามารถแก้กฎหมายได้เพราะกฎหมายไม่ใช่สิ่งที่คนสร้างขึ้น แม้แต่กษัตริย์ก็แก้ไม่ได้ หากเห็นว่ากฎหมายนั้นไม่เหมาะสมจะใช้การชำระสะสางไม่ใช่ยกร่างขึ้นใหม่หรือแก้ไขกฎหมายเดิม
5. ไม่ใช่ประมวลกฎหมายที่มีเนื้อหาครอบคลุมทุกด้านเพราะเป็นที่รวมของบทกฎหมายที่ปรุงแต่งโดยนักกฎหมายและจารีตประเพณีที่สำคัญเท่านั้น การเรียกว่าประมวลกฎหมายตราสามดวงนั้นเป็นเพียงการใช้คำว่าประมวลเพื่อยกย่องเท่านั้น
6. เป็นกฎหมายที่ใช้เป็นคู่มือในการชี้ขาดตัดสินคดีเพราะเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาพิพากษาคดี และใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นหลัก ไม่ใช่กฎหมายที่เขียนขึ้นในลักษณะตำรากฎหมาย
ประวัติการพิมพ์เผยแพร่กฎหมายตราสามดวง
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน กฎหมายตราสามดวงได้เคยถูกพิมพ์เผยแพร่มาแล้วอย่างน้อย 11 ครั้งดังนี้
1.พิมพ์ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 ปีระกา จุลศักราช 1211 พ.ศ. 2392 พระยากระษาปณกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) ได้นำตีพิมพ์ไว้เพียงเล่ม 1 ยังไม่จบ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรด กริ้วว่า นำกฎหมายหลวงมาพิมพ์เผยแพร่ จึงยึดไปเผาทำลายเกือบทั้งหมด (อาจมีเหตุผลว่าในสมัยโบราณถือว่าบรรดาความรู้คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นของหลวงหวงห้าม จะรู้ได้เฉพาะชนชั้นปกครองเท่านั้น)
2.พิมพ์ครั้งที่สอง ในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2406 หมอบรัดเลย์ได้ตีพิมพ์จำหน่ายรวม 2 เล่ม เรียกชื่อว่า กฎหมายเมืองไทย 2 เล่ม หรือ กฎหมายหมอบรัดเลย์
3.พิมพ์ครั้งที่สาม พิมพ์ก่อนปี พ.ศ. 2444 แต่ไม่ระบุว่าเป็นปี พ.ศ.ใด หลวงดำรงธรรมสาร ผู้พิพากษาศาลอาญาจัดพิมพ์ขึ้น เรียกชื่อว่า กฎหมายเก่าใหม่
4.พิมพ์ครั้งที่สี่ ใน ร.ศ. 120 พ.ศ. 2444 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงจัดบทใหม่ อธิบายเหตุผลในหัวข้อกฎหมายให้เข้าใจง่ายขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับผู้พิพากษา และเป็นคู่มือทนายว่าความเรียกว่ากฎหมายราชบุรี มี 2 เล่ม
5.พิมพ์ครั้งที่ห้า พ.ศ. 2473 โรงพิมพ์นิติสาสน์ ได้ถ่ายทำแม่พิมพ์จากสมุดไทย พิมพ์เผยแพร่ไว้ในชุด "ประชุมกฎหมายไทย"
6.พิมพ์ครั้งที่หก พ.ศ. 2474 ราชบัณฑิตย์สภาจัดพิมพ์ เฉพาะลักษณ์อาชญาหลวงและลักษณะอาชญาราษฎร์ ในงานพระราชทานเพลิงศพมหาอำมาตย์ตรี พระยาลพะนรินทร์ เรืองศักดิ์
7.พิมพ์ครั้งที่เจ็ด ระหว่าง พ.ศ. 2481–2482 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองได้ให้ ร.แลงกาต์ ดอกเตอร์กฎหมายฝรั่งเศสเป็นผู้ชำระใหม่และจัดพิมพ์เป็นหนังสือ 3 เล่ม เรียกว่า ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉบับหลวงตรา 3 ดวง
8.พิมพ์ครั้งที่แปด หลังจากการพิมพ์ครั้งที่เจ็ดเล็กน้อย นายร้อยตำรวจโทเสถียร ลายลักษณ์ ได้พิมพ์บทกฎหมายตราสามดวงในหนังสือ ประชุมกฎหมายประจำศก ซึ่งมีจำนวน 69 เล่ม โดยกฎหมายตราสามดวงอยู่ในเล่มที่ 3 และ 4
9.ในยุคปัจจุบันนี้ มีการจัดพิมพ์กฎหมายตราสามดวงอีกสามครั้ง คือ องค์การค้าของคุรุสภา 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2505 และ พ.ศ. 2515 และของกรมศิลปากร 1 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2521 โดยในการพิมพ์ยุคปัจจุบันได้ยึดต้นฉบับของ ร.แลงกาต์ ซึ่งถือว่าสมบูรณ์ที่สุดเป็นบรรทัดฐาน
10.ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2548 สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้ จัดพิมพ์ กฎหมายตราสามดวง โดยใช้ชื่อหนังสือชุดนี้ว่า "กฎหมายตรา 3 ดวง : ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่" ซึ่งมี 3 เล่ม ใน 1 ชุด โดยยึดเอา "ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166" ฉบับปี พ.ศ. 2481 เป็นหลัก เพราะ ถือว่าเป็นกฎหมายตราสามดวงฉบับพิมพ์ที่ดีที่สุดแล้ว
การเลิกกฎหมายตราสามดวง
1.กฎหมายตราสามดวงได้เป็นกฎหมายหลักของประเทศที่ใช้บังคับมาตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นระยะเวลานานถึง ๑๐๓ ปี จนกระทั่งมีการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลตามแบบประเทศมหาอำนาจยุโรป จึงได้เลิกใช้กฎหมายตราสามดวง